วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554



                 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2  และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี  พระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2347  มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมติเทวาวงศ์" เมื่อพระชนมายุครบ 21 พรรษาทรงผนวชตามราชประเพณี แต่เมื่อผนวชได้ 15 วันสมเด็จพระบรมชนกนาถพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคตโดยไม่ทันได้มอบราชสมบัติให้แก่ผู้ใด  พระบรมราชวงค์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ประชุมหารือและตัดสินใจอัญเชิญกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ พระเชษฐาต่างพระมารดาซึ่งเจริญพระชันษากว่าเจ้าฟ้ามงกุฏถึง 17 พรรษาขึ้นครองราชสมบัติ พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  เจ้าฟ้ามงกุฏจึงตัดสินพระทัยครองสมณเพศต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เสด็จจำพรรษา ณ วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน ทรงมีฉายาขณะทรงเพศบรรพชิตว่า "วชิรญาณภิกขุ"
    
    ระหว่างทรงผนวช        
       ช่วงเวลาระหว่างอยู่ในเพศบรรพชิต พระองค์ทรงมีเวลาศึกษาศิลปวิทยาการหลายแขนง ประวัติศาสตร์ โบราณคดี โหราศาสตร์ ภาษาบาลี จนทรงมีความรอบรู้ลึกซึ้งกว้างขวาง ทรงรอบรู้แตกฉานในพุทธศาสนาทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และตั้งคณะสงฆ์นิกายใหม่ที่ชื่อว่า "คณะธรรมยุติกนิกาย" เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทำให้คณะสงฆ์เก่า คณะมหานิกาย ตื่นตัวนับเป็นการฟื้นฟูพุทธศาสนาที่กำลังเสื่อมโทรมในขณะนั้นด้วยทางหนึ่ง
        ปีพ.ศ.2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร  พระองค์ได้ทรงเริ่มติดต่อสมาคมกับชาวต่างประเทศตั้งแต่พ่อค้าจนถึงหมอสอนศาสนามิชชันนารี ได้แก่ ศาสนาจารย์เจสซี่ แคสแวล  ศาสนาจารย์ดีบี บรัดเลย์  และดร.เรโนลด์ เฮาส์ ถวายพระอักษรภาษาอังกฤษ ความรู้และวิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ของชาวตะวันตก อาทิเช่น วิชาดาราศาสตร์  ภูมิศาสตร์ และการแพทย์  ทรงสั่งซื้อแท่นพิมพ์หินจากสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดพิมพ์บทสวดมนต์และตำราภาษาบาลีขึ้นหลายเล่ม นับเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของคนไทย ระหว่างทรงผนวชอยู่โปรดเสด็จฯ ธุดงด์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้ทราบถึงสถานการณ์บ้านเมือง และความทุกข์สุขของราษฏรอย่างแท้จริง


     เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
          ครั้น ถึงปี พ.ศ. 2394  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ถวายบังคมทูลอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จึงทรงลาผนวชรวมจำพรรษาได้ 27 พรรษาขณะนั้นมีพระชนมายุ 47 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2394 โดยมีพระปรมาภิไทยโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหามงกุฏฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"  เมื่อเสด็จขึ้นครองราชพระองค์ทรงตระหนักดีว่าต่างชาติกำลังแผ่ขยายอำนาจมาบริเวณใกล้เคียง ประเทศไทย (สมัยนั้นเรียกว่า ประเทศสยาม) ถึงเวลาต้องปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก ทรงปรับปรุงแก้ไขธรรมเนียมประเพณีเก่าๆที่ล้าสมัย เช่นยกเลิกประเพณีเข้าเฝ้าตัวเปล่าไม่สวมเสื้อ  เลิกไว้ผมทรงมหาดไทย  ทรงส่งเสริมให้เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดา เรียนรู้ภาษาอังกฤษ  ทรงตกลงยินยอมทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับอารยประเทศ  อนุญาติให้ประเทศมหาอำนาจตั้งสถานกงศุล มีนโยบายผ่อนหนักผ่อนเบาส่งผลให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจ  ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักพระองค์ในนาม "คิงมงกุฏ" อย่างกว้างขวาง
      ในปี พ.ศ.2398 สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ทรงส่ง เซอร์ จอห์น เบาวริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทรงสนทนาด้วยภาษาอังกฤษตลอดเวลา เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ราชทูตยิ่งนัก ถึงกับทูลว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกในบูรพาทิศที่ตรัสภาษาองกฤษได้ ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะทูตไทยเชิญ พระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทน นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะทูตไทยเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวาย พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ทำนองเดียวกันด้ว
     ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกลไฟพระที่นั่งอรรคราชวรเดช  เรือรบกลไฟ เช่น เรือราญรุกไพรี  ศรีอยุธยาเดช  มหาพิชัยเทพ นับเป็นความสามารถของคนไทยสมัยนั้นจนรัฐบาลญี่ปุ่นเจรจาขอซื้อเรือรบกลไฟไปใช้  ทรงริเริ่มให้มีการจัดการฝึกทหารอย่างชาติยุโรป โดยจ้างนายร้อยเอก อิมเป เข้ามาจัดระเบียบทหารบก  ทรงให้ผู้เชี่ยญชาญชาวยุโรปมาทำแผนที่พระราชอาณาจักรด้านตะวันออกริมฝั่งแม่น้ำโขง